วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

วุฒิภาวะทางอารมณ์

ผู้บริหารกับประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร
             ประสิทธิภาพของงานในองค์กรเกิดขึ้นเนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยที่เกี่ยวกับผู้บริหาร เช่น ความรู้ความสามารถของผู้บริหาร วุฒิภาวะทางอารมณ์ ผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำ ปัจจัยเกี่ยวกับพนักงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น พนักงานมีความรู้ความสามารถตรงกับสายงาน พนักงานทำงานอย่างเต็มความสามารถด้วยความกระตือรือร้น มีความพร้อมในการเรียนรู้และพัฒนา และมีความภักดีในองค์กร ฉะนั้นหน้าที่ของผู้บริหารก็คือ การกระตุ้นให้พนักงานใช้ความรู้ความสามารถ และศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มที่นั่นเอง แต่หลายครั้งที่การทำงานของพนักงานในองค์กรหย่อนประสิทธิภาพกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องมาจากผู้บริหารที่บริหารงานผิดพลาดนั่นเอง
          หลายครั้งผู้บริหารเป็นสาเหตุให้การทำงานในองค์กรล่าช้า เนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน การสั่งงานที่สับสน หรือคำสั่งที่ไม่กระจ่างชัด เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและคำสั่งอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการประชุมที่บ่อยเกินความจำเป็น หรือวาระการประชุมไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ทำให้เสียเวลาทั้งการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนและเสียเวลาในการประชุมโดยใช่เหตุ ดังนั้นผู้บริหารจึงควรมีการสั่งงานที่ชัดเจนทุกครั้ง มีรูปแบบและมาตรฐานในการทำงานที่แน่นอน รวมทั้งตัดการประชุมที่ไม่จำเป็นหรือไม่สำคัญออกไปบ้าง หรือเรียกประชุมเฉพาะฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือหัวหน้างานเพื่อไม่ให้เสียเวลางานของพนักงานส่วนใหญ่
          การใช้อำนาจในการบริหารงาน ของผู้บริหารบางคนใช้แบบ "พระเดช" คือการใช้คำสั่ง วางอำนาจ สร้างภาพผู้บริหารให้ลูกน้องเกรงกลัว การสั่งงาน คำสั่งต่างๆก็ใช้อำนาจบังคับเพียงอย่างเดียว เพราะผู้บริหารบางคนคิดว่าการสร้างภาพให้ตนเองมีอำนาจ ลูกน้องเกรงกลัวนั้นจะเกิดผลดีในการทำงานมากกว่า แต่ที่จริงแล้วการสร้างความเกรงกลัวให้ลูกน้องมากเกินไปจะเกิดผลเสียในการทำงาน เนื่องจากพนักงานจะเกิดอาการลนลาน ขาดความมั่นใจ ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความคิดสร้างสรรค์ และทำงานเฉพาะเมื่อมีคำสั่งทำงานเพื่อไม่ให้เจ้านายไม่พอใจเท่านั้น แต่ไม่มีจิตสำนึกที่จะทำงานให้สำเร็จด้วยตัวเอง หรือเพื่อความสำเร็จขององค์กร ฉะนั้นผู้บริหารที่ดีต้องใช้อำนาจในการบริหารทั้งการใช้ "พระเดช" และ "พระคุณ" ให้เหมาะสม ต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด เพื่อพนักงานจะมีความสบายใจในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยกันพัฒนาองค์กรไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จร่วมกัน
          ผู้บริหารที่ดีเมื่อพนักงานทำผิดพลาดไม่ได้มีบทบาทแค่ตำหนิหรือลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีบทบาทในการชี้แนะ แนะนำแนวทางแก้ไข หรือแนวทางการทำงานที่ถูกต้องให้แก่พนักงานอีกด้วย เพราะถ้าตำหนิแต่ไม่บอกแนวทางแก้ไขก็อาจจะเกิดความผิดพลาดซ้ำซากทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ และบางครั้งลูกน้องอาจคิดว่าสาเหตุที่เจ้านายไม่แนะนำเพราะเจ้านายก็ไม่รู้จริงก็เป็นได้
          ผู้บริหารที่ดีต้องไม่ละเลยเรื่องเล็กๆแต่มีผลต่อการทำงาน เช่น เรื่องของการจัดเก็บเอกสารและข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลทางด้านต่างๆมีมากมายจึงจำเป็นต้องรวบรวม จัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ และเข้าใจหลักของการจัดเก็บข้อมูลที่เหมาะกับงาน เพราะถ้าพนักงานจัดเก็บข้อมูลโดยไม่มีการแยกหมวดหมู่หรือจัดระบบ ทำให้เสียเวลาในการค้นหา ข้อมูลสำคัญอาจสูญหาย ข้อมูลที่ใช้ประกอบกันหรือข้อมูลประเภทเดียวกันแต่แยกกันจัดเก็บ ทำให้การทำงานขาดความคล่องตัว ดังนั้นผู้บริหารที่ดีจึงควรให้ความสำคัญเรื่องการจัดเก็บข้อมูลที่ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
           นอกจากผู้บริหารต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานในองค์กรแล้ว ผู้บริหารที่ดีต้องมีจิตสำนึกของการเป็นเจ้านายที่ดี มีความยุติธรรม เห็นความสำคัญของพนักงาน รวมทั้งต้องไม่ละเลยการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานอีกด้วย เช่น ให้รางวัลพนักงานที่ทำงานอย่างทุ่มเท ชมเชยพนักงานที่ทำงานเก่ง เลื่อนตำแหน่งให้พนักงานที่มีความสามารถโดดเด่น และสร้างความมั่นใจและความรู้สึกมั่นคงในการทำงานแก่พนักงานในองค์กร ถ้าผู้บริหารมีความสามารถทั้งการบริหารงานและบริหารคนที่ลงตัว ประสิทธิภาพในการทำงานก็ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา : http://www.wiszanu.com/

วุฒิภาวะทางอารมณ์
Categories: การบริหารจัดการ, การบริหารทรัพยากรบุคคล, ฝ่ายบริการ
          วุฒิภาวะทางอารมณ์:ปัจจัยสำคัญของคน ทีมงาน องค์กรแห่งความสำเร็จ
         วุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Maturity) คือ การมีความสมดุลระหว่างความรู้สึกของตัวตนของเรากับความสามารถและความยินดีที่จะสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างซื่อตรง ให้ความร่วมมือและมีความหมาย
คนที่มีวุฒิภาวะจะสามารถเผชิญหน้าและจัดการกับปัญหาต่างๆในชีวิตด้วยความรับผิดชอบและสามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองควบคู่ไปกับคำนึงถึงผู้อื่นด้วย
          คนที่มีวุฒิภาวะจะมีความมั่นใจในตนเองและมีจิตใจมั่นคงพอที่จะรับมือความจริงและตอบสนองด้วยการกระทำอย่างสร้างสรรค์และเต็มความสามารถ
         คนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์จะเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ ส่วนคนที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์จะมีพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น
         สรุปสั้นๆ คือ วุฒิภาวะทางอารมณ์ คือ การกระทำด้วยความรับผิดชอบในการกระทำของตน(Intergrity)
ลักษณะของคนที่มีวุฒิภาวะ โดยทั่วๆไป คือ มีความสุข มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตว์ มีความคิดสร้างสรรค์ และไว้ใจได้ โดยรวมแล้วจะทำให้เกิดผลกระทบทางบวกับคนรอบข้างหรือสิ่งแวดล้อม
ในทางตรงกันข้าม คนที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์จะเป็นคนที่ไม่มีความสุข ไว้ใจไม่ได้ ขาดความรับผิดชอบ ไม่มีประสิทธิภาพ เหล่านี้สร้างผลกระทบทางลบกับผู้อื่น
           ดร.เอ็ด มอร์เลอร์(Ed Morler,Ph.D) ได้กล่าวถึง บูรณาการความรู้บุคลิกภาพเอ็นเนียแกรมกับระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์ จากหนังสือ ชื่อ Intergrating the Enneagram of Personality with the Levels of Emotional Maturity และได้แบ่งกลุ่มตามระดับวุฒิภาวะอย่างเป็นรูปธรรม เป็น 6 ระดับ ดังนี้
         ระดับ 6 ผู้นำ (Leader) มีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตนเองอยู่เสมอ ซื่อตรง เปิดรับและมองสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้าน มีความสุขและสนุกกับชีวิต มองปัญหาต่างๆ เป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
         ระดับ 5 สร้างสรรค์ (Doer) ในระดับนี้คือคนที่มองโลกในแง่บวก มีความสนใจในสิ่งต่างๆ มีความสุขพอสมควร มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ แต่มักจะยอมรับสิ่งต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงต่อเมื่อสิ่งนั้นได้รับการพิสูจน์แล้ว
         ระดับ 4 ผู้เอาตัวรอดได้ (Coper) มักเมินเฉยหรือไม่แย่แสต่อสิ่งใดๆ ใช้ชีวิตหรือทำอะไรเพียงแค่ให้ตัวเองอยู่รอดได้เท่านั้น ซื่อตรงบ้าง ไม่ซื่อตรงบ้าง ทำตัวกระแสสังคมเพื่อความสะดวก ขาดความมุ่งมั่น รอให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเอง
        ระดับ 3 ผู้ต่อต้าน (Opposer) ชอบต่อต้าน ไม่เป็นมิตร แสดงความโกรธออกมาอย่างเปิดเผยเพื่อประกาศตนว่าไม่กลัวอะไรชอบข่มขู่คุกคามเพื่อควบคุมผู้อื่น

          ระดับ 2 จอมเล่ห์เหลี่ยม (Manipulator) คนที่อยู่ในขั้นนี้รู้สึกกลัวเกินไปที่จะแสดงความร้ายกาจออกมาอย่างเปิดเผย จึงปกปิดซ่อนเร้นสิ่งเหล่านี้ไว้ข้างใน มักโกหก หรือทำตัวและสร้างภาพว่าตนเป็นคนดี แต่ที่จริงชอบแก้แค้นและเอาแต่ได้
          ระดับ 1 ผู้เคราะห์ร้าย (Victim) คนในขั้นนี้อยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก พร่ำบ่นคร้ำครวญเพื่อเรียกร้องความสงสาร หรืออาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิด ขอบพูดทำนอง ไม่ใช่ความผิดของฉันซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบในพฤติกรรมของตัวเอง
           ผู้อ่านลองทบทวนคนในระดับทั้ง 6 นี้แล้วลองประเมินตัวเองว่าคุณอยู่ในระดับไหน โดยให้คนรอบข้างที่รู้จักและสนิทสนม สังเกต สิ่งที่คุณมักทำหรือ พูดบ่อยๆ มาสนับสนุน หลายๆคน ดูว่าเขาเห็นด้วยกับคุณหรือไม่

ที่มา: วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช.2552. “วุฒิภาวะทางอารณ์ : ปัจจัยสำคัญของคน ทีมงาน และ องค์กร ที่จะประสบความสำเร็จ (ตอนที่ 1)“. go training magazine(24), 12.
Tags: การบริหารงานบุคคล, จิตวิทยา, เพิ่มแท็กใหม่
Tags:การบริหารงานบุคคล, จิตวิทยา, เพิ่มแท็กใหม่ Leave a Reply


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น